รู้จัก “โรคลัมปี สกิน” ระบาดในวัว คนกินเนื้อได้รับอันตรายหรือไม่?
รู้จัก “โรคลัมปี สกิน” โรคระบาดในวัว
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ในโคกระบือ พบระบาดจากประเทศเพื่อนบ้าน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน อัตราการป่วยมากกว่า 5% โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย โดยในโคนมอาจพบน้ำนมลดลง 25-65%
พาหะนำโรคลัมปี สกิน
โรคลัมปี สกิน มีแมลงดูดเลือดเช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุงเป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง ผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรกได้
อาการของโรคลัมปี สกิน
สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือก อัตราการป่วยอยู่ที่ 5-45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง
มนุษย์ติดโรคลัมปี สกินจากวัวได้หรือไม่?
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดต่อในโค กระบือ แต่ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น เหมือนกับโรคฝีดาษ-สุกร เกิดโรคเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่สัตว์ชนิดอื่น และไม่ติดต่อสู่คนเช่นกัน แต่ไม่แนะนำให้กินเนื้อวัวที่ป่วยเป็นโรค ควรบริโภคเนื้อวัวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัยจากกรมปศุสัตว์เท่านั้น
นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อสัตว์จึงต้องรับประทานสุกทุกกรณี เพื่อหลีกเลี่ยงโรคบางโรคที่เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆดิบๆ เช่น โรคท้องร่วง หรือ โรคหูดับ (Streptococcus suis)
การป้องกันโรคลัมปี สกินในวัว
- กำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่น
- สำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่
- กางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด
ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบโค กระบือป่วยและแสดงอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-2256888 เพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคเร็วที่สุด
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :sanook.com, เรื่องเล่าเช้านี้ กลุ่มควบคุมป้องกันโรคปศุสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
ภาพ :iStock